วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความเสนอ ร.ศ.พีระพล ศิริวงศ์

คณิตศาสตร์ศึกษา
โดย นางสมคิด สืบสนุก เลขที่ 26
จากการศึกษาเล่าเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา ทำให้รู้ว่าตัวเองในฐานะเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์นั้นจะต้องรอบรู้ในธรรมชาติของวิชาคณิตศาสตร์ รู้การศึกษาคณิตศาสตร์ในอดีต ดูบทเรียนทั้งแง่ดีและแง่ร้าย อย่างน้อยที่สุดเป็นอุทาหรณ์ให้เกิดมุมมองเมื่อเรายืนอยู่หน้าห้องเรียน ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แม้ว่าทางเลือกในการทำงาน วิธีหนึ่งคือรอให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นเพื่อรับความเจ็บปวด ผิดหวังไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น หรือการศึกษาบทเรียนในอดีตเพื่อเป็นข้อเตือนสติ และลดความบกพร่อง ความผิดพลาดให้น้อยลง แต่ในฐานะที่เป็นครูคณิตศาสตร์ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะรอให้เกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะองค์ประกอบในงานการสอนคณิตศาสตร์นั้น มีตัวเราเองและตัวผู้เรียนเป็นสิ่งทีมีชีวิตที่เมื่อสอนสิ่งที่ผิดพลาดให้แล้ว เราไม่สามารถที่จะทิ้งนักเรียนเหมือนกับสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่สามารถทิ้งไปได้ การเป็นครูคณิตศาสตร์ต้อง มีความรู้ความเข้าใจ แม่นในเนื้อหา กระบวนการ ความคิดหรือหลักการที่สำคัญทางคณิตศาสตร์ นักเรียนของเราควรจะมีบทบาทอย่างไรในยุคสมัยของเขา นั่นคือสิ่งที่ครูควรจะก่อเกื้อและส่งเสริม ซึ่งอาจจะปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อปฏิบัติเหมือนกันหรือแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเช่น สิ่งที่ดำรงอยู่ย่อมมีความขัดแย้ง ความขัดแย้งนำไปสู่การต่อสู้ และการต่อสู้ทางความคิดด้วยภูมิปัญญาจะทำให้เกิดการยกระดับทางความคิด ความขัดแย้งในเอกภาพหนึ่งเกิดให้เกิดการคลี่คลายขยายตัว หรือสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้าย่อมมีมุมมองได้หลายมุม ดีเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์ใด ไม่ดีต้องแก้ไขด้วยเจตนาใด พื้นฐานทั่วไป และการต่อสู้ที่แหลมคมทำให้เห็นความสำคัญของตรรกศาสตร์ แสดงถึงความจำเป็นที่จะเตรียมความรู้ในเรื่องตรรกศาสตร์ไว้ในระยะต้นของการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพราะคณิตศาสตร์มีความเป็นนามธรรมที่มีความเป็นสากล เป็นวิชาที่เราไม่อาจรู้ว่าเรากำลังพูดถึงอะไรกันอยู่ และไม่อาจรู้ว่าสิ่งที่พูดถึงนั้นเป็นจริงหรือไม่ ความรู้ทางคณิตศาสตร์ส่วนมากมีประโยชน์อย่างยิ่งในทางปฏิบัติ แต่ตราบใดที่ยังเป็นคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ยังเป็นเกมเหมือนกับการแก้ปัญหาเกมบางชนิด แตกต่างจากเกมตรงที่สามารถเอามาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้

บทความเสนอ ร.ศ.พีระพล ศิริวงศ์

นางนิตยา ไร่สงวน เลขที่ 22 เสนออาจารย์ รองศาสตราจารย์ พีระพล ศิริวงศ์

บทความ คณิตศาสตร์
ประโยชน์ของคนที่เก่งคณิตศาสตร์

คนที่เก่งคณิตศาสตร์มีประโยชน์ต่ออประเทศชาติอย่างยิ่ง เพราะคณิตศาสตร์มิใช่เป็นเพียง ราชินีวิทยาศาสตร์ดังเช่นที่ เกาส์นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ในอดีตเท่านั้น ปัจจุบันคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของศาสตร์อีกหลายสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ เราลองนึกภาพถ้าเรามีเกษตรกรที่เก่งคณิตศาสตร์ เราคงจะได้ปุ๋ยสูตรใหม่ๆการกำจัดแมลงวิธีใหม่ หรือพืชพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เหมาะกับบ้านเรา หรือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทำเกษตรกรรมอย่างคุ้มค่า ตลอดจนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่จะนำรายได้สู่ครอบครัวหรือประเทศ เรามีคนที่มีคุณสมบัติอย่างน้อยมาก

ประเทศชั้นนำของโลกให้ความสำคัญต่อคณิตศาสตร์อย่างยิ่ง บางประเทศพัฒนาเด็ก จนสามารถมีเด็กเก่งคณิตศาสตร์ ถึงร้อยละ 40 เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน บางประเทศถ้าเห็นว่า คณิตศาสตร์ ของประเทศตนแย่ลงเพียงเล็กน้อยก็จะทุ่มเทให้ความสำคัญเช่นสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศเรามี คนเก่งคณิตศาสตร์ ตามธรรมชาติปริมาณ ไม่เกินร้อยละ 3 โดยที่ความเก่งนั้นเมื่อ
เปรียบเทียบกับต่างประเทศยังอยู่ในอันดับท้ายๆเราให้ความสำคัญในด้านนี้น้อยเกินไป ประเทศเรามีนักคณิตศาสตร์ประมาณ 30 คน มีคนเล่าว่าเวียดนามมีถึง 600 คน ปัจจุบันเราต้องจ้าง
ศาตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ชาวเวียดนามมาสอนในมหาวิทยาลัย

เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยเรา ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ควรช่วยกันแก้ปัญหาว่า เหตุที่ว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ มีหลายสาเหตุ บางคนไม่ชอบเพราะไม่ถนัด มันยากเกินไป ไม่ชอบคิด พวกนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำแบบฝึกหัด มักทำไม่ได้หรือทำผิดบ่อยๆ จึงท้อแท้ เบื่อหน่าย และเกลียดในที่สุด บางคนไม่ชอบเพราะครูสอนไม่เข้าใจ สอนไม่สนุก ครูดุ จู้จี้ขี้บ่น ให้การบ้านเยอะ ทางแก้อยู่ที่ครูจะต้องสำรวจว่าเด็กไม่ชอบคณิตศาสตร์เพราะอะไรครูต้องปรับปรุงการสอนทำของยากให้เป็นของง่าย ทำของน่าเบื่อให้น่าสนุก และควรปรับปรุงบุคลิกให้ดูไม่ดุจนเกินไป ไม่เจ้าระเบียบมากจนเกินเหตุ การบ้านก็มีแต่พอควร เลือกให้เด็กทำสิ่งที่สำคัญและจำเป็นก่อน ถ้าเราเลือกครูไม่ได้ บังเอิญเราต้องเรียนกับครูที่สอนไม่รู้เรื่อง สอนไม่สนุก ดุ จู้จี้ขี้บ่น เราต้องหาตำราหลายๆเล่มมาศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อไม่เข้าใจให้ปรึกษาผู้รู้ ถามกับอธิบายกันในหมู่เพื่อนๆ เราอดทนในที่สุดเราจะพบว่า เราเป็นคนเก่งคนหนึ่ง เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ โจทย์ปัญหาทุกเรื่อง วิธีการเรียนเรื่องนี้ให้ได้ดีต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจโจทย์เสียก่อน มีศัพท์อะไรที่เราไม่รู้จักหรือลืม มีข้อความตอนใดที่เราไม่เข้าใจ เราต้องทำความเข้าใจก่อน โจทย์ถามอะไร และโจทย์กำหนดอะไรมาให้บ้าง อาจวาดภาพช่วย อาจสร้างตารางช่วยขั้นต่อไปวางแผนแก้ปัญหา และดำเนินการแก้ปัญหา และสุดท้ายเราต้องตรวจสอบคำตอบ ขั้นตอนที่กล่าวมานี้ แนะนำ เป้าหมายสูงสุดของการเรียนคณิตศาสตร์ก็คือ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และการนำไปใช้เป็นพื้นฐาน การศึกษาวิชาชีพต่างๆ หลายคนอาจสงสัยว่า ไม่เห็นต้องเรียนคณิตศาสตร์มากนัก บวก ลบ คูณ หาร จำนวน เราก็มีเครื่องคิดเลขใช้แล้ว นับว่าเป็นความเป็นคามเข้าใจผิด คณิตศาสตร์มิใช่เพียงต้องให้คิดคำนวณเกี่ยวกับตัวเลขเท่านั้น ในโลกปัจจุบันเมื่อเราเรียนคณิตศาสตร์เราควรได้คุณสมบัติต่อไปนี้จากการเรียน
- ความสามารถในการสำรวจ
- ความสามารถในการคาดเดา
- ความสามารถในการให้เหตุผล
- ความสามารถการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาที่ไม่เคยพบได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณสมบัตินี้เรียกว่าศักยภาพทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Power) ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรถ้าเรามีคุณสมบัตินี้ เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีศักยภาพทางคณิตศาสตร์

ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีคนที่เก่งคณิตศาสตร์มากกว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนา โดยเฉพาะประเทศใดที่มีผู้นำที่เก่งคณิตศาสตร์จะทำให้ประเทศนั้นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยของเรามีช่วงหนึ่งที่มีนายกรัฐมนตรีเก่งคณิตศาสตร์ชอบคณิตศาสตร์ เคยทดลองสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนที่มีการถ่ายทอดทั่วประเทศ ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นประเทศไทยมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนทุกอาชีพมีความเป็นอยู่ที่ดี กินดีอยู่ดี (ช่วงพ.ศ. 2544 – ก.ย. 2549 ) นับว่าเป็นช่วงแผ่นดินทองของประชาชนก็ว่าได้ ท่านเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นนักพัฒนาที่ดี รอบรู้ทุกๆด้านเป็นบุคลิกลักษณะของผู้ที่เก่งคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง ดังคำกล่าวที่ว่า “เก่งคณิตศาสตร์จะฉลาดทุกวิชา” เพราะฉะนั้นคนที่เก่งคณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความเสนอ รศ.พีระพล ศิริวงศ์

หนทางอันยาวไกล ด้วยหัวใจคณิตศาสตร์
“ครูผู้สอนเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้นักเรียนชอบหรือไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์”
โดย ประจวบ บัวพันธ์

จากประสบการณ์ในการสอนคณิตศาสตร์ของผู้เขียนพบว่า ครูผู้สอนคณิตศาสตร์หลายคนประสบปัญหาในการสอนคณิตศาสตร์ และมีปัญหาที่ต้องถามตนเองเสมอว่าจะสอนคณิตศาสตร์อย่างไรเพื่อให้ นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จะสอนคณิตศาสตร์อย่างไรเพื่อให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ และทำอย่างไรจึงจะเป็นครูในดวงใจของลูกศิษย์ ขอเริ่มจากคำว่า “คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน” คำนี้น่าจะหมายถึง การใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาบางประการในชีวิตประจำวัน ซึ่งนักเรียนมักจะคิดว่า แต่ละเรื่องที่เรียนไปแล้วเอาไปใช้ทำอะไร ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ประจำวัน วิธีการหนึ่งที่อยากจะแนะนำคือ ครูผู้สอนอาจจะให้โจทย์ปัญหา ยกตัวอย่างจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน เชื่อมโยงการแก้ปัญหาบางประการในชีวิตประจำวัน และให้นักเรียนช่วยกันหาข้อมูลที่จะมาใช้แก้ปัญหา แล้วมาช่วยกันหาคำตอบ การฝึกให้นักเรียนรู้จักวางแผนการทำงาน โดยใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือ เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น โดยครูผู้สอนควรฝึกให้นักเรียนรู้จักค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง โดยครูอาจจะแนะนำแหล่งที่จะไปหาข้อมูล และเมื่อนักเรียนแก้ปัญหาโจทย์ได้แล้ว ครูควรสรุปคำถาม และควรมีข้อเสนอแนะอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้ความคิดกว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครูผู้สอนว่ามีความพร้อมหรือไม่ และกิจกรรมดังกล่าวเหมาะสมกับชั้นเรียนของท่านหรือไม่ เพียงใดด้วย
การเพิ่มคุณภาพของนักเรียนด้านเจตคติ และความอยากเรียนคณิตศาสตร์ ทำอย่างไรที่ความกลัวที่จะต้องยุ่งเกี่ยวกับคณิตศาสตร์จะหายไป คงเหลือไว้แต่ความกระตือรือร้นและความสนุกสนานเข้ามาแทนที่ ผู้เขียนขอเสนอแนะว่า ครูผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ยั่วยุให้เด็กได้มีส่วนร่วม ได้มีการค้นหา และได้มีการค้นพบ เมื่อมีความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ครูจะต้องคิดค้นคือสื่อการสอนใหม่ ๆ หรือวิธีการสอนใหม่ ๆ ด้วยตนเอง การสนทนาโต้ตอบ สามารถช่วยให้นักเรียนทุกคนพัฒนาความเข้าใจความหมายต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม การเรียนตามลำพัง จะมีแต่ความเงียบเหงา ซึ่งมีความแตกต่างเป็นอย่างมากในผลการเรียน ความแตกต่างระหว่างบุคคล มีทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ บุคลิกภาพ ความถนัด ความสนใจ ความรู้พื้นฐานและสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีวิธีสอนใดที่ดีที่สุด ผู้สอนจะต้องตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนในด้านต่าง ๆ และต้องยอมรับว่าการพัฒนาการเรียนของนักเรียนจะเป็นไปในระดับที่แตกต่างกัน ครูผู้สอนต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ การเลือกใช้วิธีการสอนให้เหมาะกับเนื้อหา เวลา และกลุ่มผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญ เรามักจะพบได้ว่ามีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ง่วงหรือหลับในห้องเรียน พูดคุยนอกเรื่องหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในห้องเรียน ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเหตุมาจากความไม่ใส่ใจในการเรียนแล้วมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ หลายประการ ที่ผู้เขียนได้รวบรวมจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ดังนี้
1. ปัญหาของนักเรียน นักเรียนไม่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจบทเรียน ติดตามบทเรียนไม่ทัน ไม่รู้ว่าครูผู้สอนพูดเรื่องอะไรอยู่ ไม่เข้าใจตั้งแต่เรื่องแรกที่เรียน จึงไม่มีความหวังที่จะรู้เรื่องต่อ ๆ ไป จนเกิดความท้อแท้และปัญหาเป็นไปอย่างซ้ำซาก จนกระทั่งนักเรียนปิดกั้นตัวเอง ไม่รับรู้ ไม่พยายามในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะคิดว่าเรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง ฟังครูสอนไปก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ นักเรียนจะหากิจกรรมอื่นทดแทนในเวลาเรียน เช่น อ่านหนังสือการ์ตูน อ่านหนังสือพิมพ์ เล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ วาดรูป ทำรายงานวิชาอื่นๆ ลอกการบ้านวิชาอื่น นั่งหลับ คุยกับเพื่อน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเนื่องกับการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน การควบคุมชั้นเรียน ตัวนักเรียนก็จะไม่ประสบความ สำเร็จในการเรียน ไม่มีกำลังใจในการเรียน จึงทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์
2. ปัญหาของครูผู้สอน ครูบางคนไม่ต้องการสอนนักเรียนอ่อน เพราะคิดว่ายากต่อการบริหารจัดการทั้งด้านการสอน การสั่งงาน การตรวจงาน การควบคุมชั้นเรียน ครูบางคนอาจจะอยากสอน อยากช่วยให้นักเรียนอ่อนได้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่มีความอดทน ความเพียรพยายามในการหากลวิธีต่าง ๆ รับมือกับปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ในที่สุดอาจเกิดความท้อแท้ และสอนไปวัน ๆ แต่ถ้าครูใช้เทคนิควิธีการสอนโดยทั่วไป ซึ่งใช้กับนักเรียนเก่ง หรือนักเรียนปานกลาง สอนเพียงเพื่อให้สอนจบ ปัญหาก็จะตกไปที่ ตัวผู้เรียน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน
3. ปัญหาเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการ จำนวนนักเรียนในห้องมากเกินไปทั้งยังมีความแตกต่างระหว่างบุคคลอีกมากมายหลายด้านทำให้ครูดูแลได้ไม่ทั่วถึง สิ่งที่น่าห่วงก็คือ ครูบางคนไม่ชอบการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน บางคนติดอยู่กับขั้นตอนมากเกินไป และจะไม่สนุกในการทำกิจกรรมกับเด็กแต่ถ้าเป็นครูที่เข้าใจและสอนไปเล่นไปก็จะสอนเด็กได้ดี
4. ปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมในการทำงานที่ครูยึดถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดและพร้อมที่จะปกป้อง ถึงแม้จะไม่สามารถอธิบายเหตุผลหรือที่มาที่ไปของการประพฤติ การปฏิบัติก็ตาม เมื่อครูเข้าไปทำการสอนในหน่วยงานนั้นก็จะได้รับการปลูกฝังให้ยึดถือแนวประพฤติ วิธีการทำงานเดิมที่มีอยู่เดิม ในที่สุดแล้วก็จะผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่มีฐานรากมาจากการปฏิบัติในอดีต อันยาวนานจนคนรุ่นหลังไม่สามารถอธิบายที่มาได้ ซึ่งมีข้อคิดบางอย่างว่า วัฒนธรรมที่สั่งสมกันมายาวนานนั้นบางสิ่งบางอย่างยังใช้ได้หรือไม่ อันไหนบ้างที่เป็นการสกัดกั้นการมีประสิทธิภาพของการเรียนการสอน และสมควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างรีบด่วนในยุคคิดใหม่ทำใหม่ มิฉะนั้นแล้วการศึกษาของไทยก็ไม่สามารถพัฒนาได้
ทำอย่างไรครูจึงจะเป็นคุณครูในดวงใจของลูกศิษย์ ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ทุกท่าน ต้องมาช่วยกันคิดครับ ว่าทำอย่างไรครูจึงจะเป็นคุณครูในดวงใจของลูกศิษย์ ทำอย่างไรที่จะให้ลูกศิษย์อยากเรียนคณิตศาสตร์ด้วย ถึงเวลาที่ครูคณิตศาสตร์จะสอนให้เด็กเห็นความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างครูกับลูกศิษย์ ซึ่งพฤติกรรมที่นักเรียนต้องการเห็นจากครูคณิตศาสตร์ คือ ใจดี ดูแลเอาใจใส่ สอนสนุกเข้าใจง่าย มีเหตุมีผล ยุติธรรม และมีความรู้มากกว้างขวาง จะเห็นว่าสิ่งที่เด็กนักเรียนต้องการเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทั้งสิ้น ครูใจดี ไม่ดุจะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกว่าห้องเรียนปลอดภัยและไม่เครียด การสอนสนุกและเข้าใจง่าย ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ เป็นสิ่งที่เด็กต้องการอย่างมากในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ การเรียนไม่รู้เรื่องนับว่าเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง จะส่งผลให้ง่วงนอน เบื่อหน่ายการเรียน ในที่สุดเด็กไม่อยากเรียนด้วย ยิ่งถ้าครูผู้สอนขาดการดูแลเอาใจใส่นักเรียน ไม่ตรวจแก้ไขการบ้านเลย เด็กนักเรียนคนนั้นไม่เคยถูกถามเลย ยิ่งทำให้นักเรียนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ยิ่งขึ้นและจะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียนเลย แล้ววิธีสอนคณิตศาสตร์แบบไหน ที่จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจได้ง่าย ทำให้นักเรียนชอบคิด อยากเรียน และรักในวิชาคณิตศาสตร์ และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ควรมีบุคลิกและลักษณะอย่างไรจึงจะเป็นที่ชื่นชอบใจของนักเรียน
ด้วยความปรารถนาดี
ประจวบ บัวพันธ์
วท.ม.ค.ศ. 4 เลขที่ 2
เสนอ รศ.พีระพล ศิริวงศ์
วิชา คณิตศาสตร์ศึกษา